อีเลียด ในฐานะมุขปาฐะ ของ อีเลียด

มหากาพย์ อีเลียด และ โอดิสซีย์ นับว่าเป็นวรรณกรรมคลาสสิกของกรีกโบราณชิ้นสำคัญที่สุด และถือเป็นงานพื้นฐานสำคัญของวรรณกรรมกรีกในยุคต่อมา นอกเหนือจากความเป็นโคลงโบราณที่มีบทพรรณนาอย่างลึกซึ้งแล้ว มันยังเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมต่าง ๆ ของกรีกที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาด้วย ในงานเฉลิมฉลองทางศาสนาของกรีก จะมีการขับร้องบทกวีนี้ตลอดทั้งคืน[12] (ถ้าอ่านด้วยวิธีธรรมดาจะใช้เวลาประมาณ 14 ชั่วโมง) โดยจะมีผู้ฟังเข้าและออกเรื่อย ๆ เพื่อมาฟังบทที่เขาชื่นชอบเป็นพิเศษ

นักวิชาการด้านวรรณกรรมถือเอา อีเลียด และ โอดิสซีย์ เป็นงานประพันธ์แบบกวีนิพนธ์ และมักนับว่าโฮเมอร์เป็นกวีด้วย แต่เมื่อถึงช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 19 ถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรณที่ 20 เหล่านักวิชาการก็เริ่มสงสัยว่าข้อสมมุติฐานนี้ถูกต้องหรือไม่ มิลแมน แพรี่ (Milman Parry) นักวิชาการยุคคลาสสิกคนหนึ่งพบว่าลักษณะงานประพันธ์ของโฮเมอร์มีความเฉพาะเจาะจงอย่างน่าประหลาด ในการเลือกใช้คำคุณศัพท์ รวมถึงคำขยายคำนาม วลี หรือประโยค ที่ซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งเขาเห็นว่าลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะของเรื่องเล่าปากเปล่า หรือวรรณกรรมแบบมุขปาฐะ[13][14] ผู้แต่งจะใช้คำหรือวลีที่มีรูปแบบแน่นอนเพราะจะเข้าสัมผัสในฉันทลักษณ์แบบ hexameter ได้ง่ายกว่า ยิ่งกว่านั้น แพรี่ยังสังเกตว่าโฮเมอร์ระบุสร้อยนามของตัวละครหลักแต่ละตัวด้วยคำเฉพาะแบบสองพยางค์ซึ่งจะบรรจุลงได้ครึ่งบรรทัด จึงสันนิษฐานว่าเขาน่าจะแต่งสด ๆ ทีละครึ่งบรรทัด ส่วนครึ่งที่เหลือก็จะเอ่ยไปโดยอัตโนมัติด้วยวลีสามัญ เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีนี้ แพรี่เดินทางไปยังยูโกสลาเวียเพื่อศึกษาวรรณกรรมมุขปาฐะของท้องถิ่นนั้น เขาพบกว่ากวีมักใช้คำที่ซ้ำ ๆ และคำเอื้อน คำสร้อย เพื่อให้มีเวลาแต่งบทกวีวรรคต่อไป การศึกษาของแพรี่ช่วยเปิดแนวทางการศึกษาแนวคิดเรื่องวรรณกรรมมุขปาฐะมากขึ้น

แหล่งที่มา

WikiPedia: อีเลียด http://ablemedia.com/ctcweb/netshots/homer.htm http://www.crystalinks.com/homer.html http://www.gradesaver.com/classicnotes/titles/ilia... http://www.imdb.com/boxoffice/alltimegross?region=... http://www.locusmag.com/SFAwards/Db/Locus2004.html http://messagenet.com/myths/essays/iliad.html http://www.metal-archives.com/review.php?id=21 http://www.salon.com/books/review/2008/02/21/shano... http://www.mlahanas.de/Greeks/Mythology/Iliad.html http://muse.jhu.edu/demo/oral_tradition/v018/18.1d...